การเกษตรเรื่องอ้อยเลี้ยงสัตว์
อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง ซึ่งเกษตรกรส่วยใหญ่ที่ปลูกอ้อยก็เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำตาล ช่วงที่เกษตรตัดอ้อยส่งโรงงานคือระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม จะมียอดอ้อย และใบอ้อยเป็นเศษทิ้งไว้ในไร่เป็นจำนวนมากซึ่งประกอบไปด้วย ลำต้น 60% ส่วนยอด 30% และใบอ้อยอีก 10% ซึ่งส่วนใหญ่จะปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งและจุดไฟเผา
ยอดอ้อย จัดเป็นอาหารหยาบคุณภาพต่ำ มีเยื่อใยสูง แต่โคกระบือสามารถย่อยและใช้ประโยชน์จากสารเยื่อใยเหล่านี้ได้โดยจุลินทรีย์ในกระเพาะส่วนของรูเมน เช่นเดียวกับการใช้ประโยชน์ได้จากเยื่อใยในอาหารหยาบชนิดอื่นๆ ยอดอ้อยเมื่อนำมาวิเคราะห์จะมีส่วนประกอบทางเคมีแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิด หรือพันธุ์ของอ้อย อายุการตัด สภาพดินฟ้าอากาศ การใส่ปุ๋ย และการจัดการต่างๆ ยอดอ้อยจะมีคุณค่าทางโภชนะต่ำกว่าหญ้า และใกล้เคียงกับฟางข้าว ยอดอ้อยสามารถใช้เป็นอาหารโค-กระบือได้ทั้งในลักษณะสดแห้งและหมัก แต่ต้องใช้ร่วมกับอาหารข้นหรือวัตถุดิบอาหารอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนะให้สูงขึ้น ดังนั้น ในการนำยอดอ้อยมาเลี้ยงโค-กระบือ ควรต้องปรับปรุงคุณภาพก่อน เพื่อให้สัตว์ได้รับโภชนะเพียงพอกับความต้องการ
คุณค่าทางอาหารของยอดอ้อย ยอดอ้อยจะมีโปรตีนต่ำแต่มีเยื่อใยสูง ส่วนของเยื่อใยในยอดอ้อยนี้จะเป็นส่วนที่สัตว์กระเพาะเดี่ยว เช่น หมู ย่อยได้น้อยมาก แต่ในสัตว์เคี้ยวเอื้องคือโค-กระบือสามารถย่อยสารพวกนี้ได้พอสมควรเพราะจุลินทรีย์ในกระเพาะช่วยการย่อยสารเยื่อใย ดังนั้น ทั้งยอดอ้อยและใบจึงสามารถใช้เป็นอาหารของสัตว์พวกโค กระบือ แพะ แกะ การมีเยื่อใยสูงในยอดอ้อย จะทำให้ยอดอ้อยสามารถย่อยได้น้อย ในกระเพาะหมักจะมีการสะสมของเยื่อใยอยู่ทำให้อัตราการไหลผ่านของอาหารออกจากกระเพาะช้า เป็นเหตุให้สัตว์กินอาหารได้น้อย เยื่อใยจากยอดอ้อยจะช่วยให้เซลล์ภายในกระเพาะหมักพัฒนาเร็วขึ้นและช่วยกระตุ้นการไหลของน้ำลาย ทำให้กระเพาะหมักมีสภาพที่เหมาะสมต่อการทำงานของจุลินทรีย์
การใช้ยอดอ้อยเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันประเทศไทยมีงานวิจัยด้านการใช้ยอดอ้อยเป็นอาหารสัตว์น้อยมาก จึงเป็นการยากที่จะชี้ให้ชัดเจนว่าเกษตรควรจะใช้ยอดอ้อยเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบใดจึงจะดีที่สุด แต่มีผลงานวิจัยที่พอจะให้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบพิจารณาการนำยอดอ้อยมาใช้เลี้ยงโค-กระบือได้ ซึ่งสามารถจะนำมาใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น สด แห้ง หรือหมักเก็บไว้จะช่วยถนอมคุณภาพเพื่อนำมาใช้ในช่วงที่ขาดอาหาร อาจเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารหยาบได้ดี กรรมวิธีการทำแห้ง หรือหมัก อาจมีอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น การเก็บรวบ-รวมยอดอ้อยให้ได้ปริมาณมากพอและสับเป็นท่อนๆ ในเวลาจำกัด เนื่องจากการปล่อยทิ้งไว้หลายๆ วัน ยอดอ้อยจะเกิดการหมักตัวเองทำให้เกิดรสเปรี้ยวและสูญเสียคุณค่าทางโภชนา ยอดอ้อยจะแห้งและขาดความน่ากินซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและแรงงานมากพอสมควร การใช้ยอดอ้อยหมักร่วมกับกากน้ำตาล 6% เลี้ยงโคนมพันธุ์ผสมเพศผู้ตอนและเสริมด้วยอาหารข้นประกอบด้วยมันเส้นกากถั่วเขียวและมูลไก่อาหารมีโปรตีน 15% โคสามารถเพิ่มน้ำหนักได้เฉลี่ยวันละ 0.55 กก./วัน และถ้าแปรรูปเป็นลักษณะอบแห้ง กระบือพันธุ์ผสมมูร่าห์ที่เลี้ยงด้วยยอดอ้อยอบแห้งเต็มที่และใช้ใบกระถินสดเสริมวันละ12 กก./ตัว กระบือจะเพิ่มน้ำหนักได้เฉลี่ยวันละ 0.70กก./ตัว เปรียบเทียบกับพวกที่กินยอดอ้อยแห้งล้วนจะโตได้เพียงวันละ 0.23 กก./ตัว
ขอบคุณหลายๆๆๆ